รู้จักกับใบสั่งออนไลน์ มีจริงมั้ย เช็คยังไงไม่ให้โดนหลอก

218 คน
แชร์
ใบสั่งออนไลน์มีจริงมั้ย เช็คยังไง ไม่ให้โดนหลอก

ทุกครั้งเวลาทำผิดกฎจราจรไม่ว่าความผิดแบบไหน ตำรวจจะเป็นผู้ออกใบสั่งให้ชำระค่าปรับตามระเบียบ ทั้งแบบเขียนด้วยลายมือ และส่งทางไปรษณีย์ แต่เหล่ากู๊ดดี้รู้มั้ยว่าตอนนี้มีใบสั่งออนไลน์แล้วนะ แบบนี้จะรู้ได้ไงว่าเป็นของจริง เพราะยุคนี้มิจฉาชีพออนไลน์เต็มไปหมด มาครบทุกแบบ แต่ไม่ต้องตกใจไป heygoody หาคำตอบมาให้ทุกคนแล้วว่าใบสั่งออนไลน์เช็คด้วยตัวเองยังไง พร้อมช่องทางชำระเงินของจริง ไม่เข้ากระเป๋าโจรแน่นอน

ใบสั่งจราจรปัจจุบันมีกี่แบบ

ก่อนอื่นขอย้ำทุกคนก่อน ใบสั่งจราจรที่ตำรวจออกให้ในปัจจุบันมีทั้งหมด 3 แบบเท่านั้น คือ

  • ใบสั่งแบบเขียนด้วยลายมือเจ้าหน้าที่ตำรวจ
  • ใบสั่งตรวจจับความเร็วส่งทางไปรษณีย์
  • ใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์หรือใบสั่งออนไลน์ (e-Ticket)

ใบสั่งออนไลน์คืออะไร

ใบสั่งออนไลน์หรือใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์ (e-Ticket) คือ ใบสั่งจราจรรูปแบบใหม่ที่ตำรวจออกให้ผ่านคอมพิวเตอร์แบบพกพา หน้าตาคล้ายเครื่องรูดบัตรเครดิตหรือสมาร์ตโฟน ในอุปกรณ์ทุกเครื่องเชื่อมกับฐานข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ Police Ticket Management (PTM) ช่วยลดขั้นตอนการเขียนด้วยลายมือแบบเดิม ให้สะดวกมากขึ้นทั้งประชาชนและตำรวจ

รายละเอียดของใบสั่งออนไลน์ทุกใบต้องระบุข้อมูลดังนี้ เลขที่ใบสั่ง เลขทะเบียนรถของผู้กระทำผิด ข้อหากล่าวหา อัตราค่าปรับที่ต้องจ่ายตามกำหนด ระยะเวลาชำระค่าปรับ วันเวลา สถานที่เกิดเหตุ และชื่อของเจ้าพนักงานผู้ออกใบสั่ง หน้าตาของใบสั่งจะเหมือนกับใบเสร็จซื้อสินค้าทั่วไป ถ้าได้ใบสั่งแบบนี้แปะหน้ารถต้องเช็ครายละเอียดทั้งหมดนี้ให้ดีด้วย

ตรวจสอบใบสั่งออนไลน์ได้ที่ไหน

แม้ว่าใบสั่งออนไลน์เป็นทางที่สะดวก ทันสมัย แต่ก็กลัวเจอ “ใบสั่งออนไลน์ปลอม” เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ให้เช็คใบสั่งออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ Police Ticket Management ที่ดูแลโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีวิธีเช็คใบสั่งออนไลน์ ดังนี้

  • เช็คใบสั่งออนไลน์ในกรณีไม่มั่นใจว่าได้รับจริงมั้ย
  • เช็คยอดค้างชำระค่าปรับที่ยังไม่หมดอายุความ
  • ดูประวัติใบสั่งจราจรย้อนหลังทั้งหมด (เฉพาะใบสั่งที่ยังไม่หมดอายุความ)
  • ชำระค่าปรับ มีบริการชำระหลายช่องทาง

จ่ายค่าปรับใบสั่งออนไลน์ได้ที่ไหน

ใบสั่งออนไลน์ทุกใบมี QR Code อยู่ล่างสุด สแกนผ่านกล้องสมาร์ตโฟน แล้วชำระค่าปรับผ่าน Mobile Banking เลือกหัวข้อ “ชำระแก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ-ค่าปรับจราจร” เท่านั้น ส่วนช่องทางการชำระอื่น ๆ นอกเหนือจาก QR Code มีดังนี้

  • ชำระกับธนาคารทุกสาขา ค่าธรรมเนียมรายการละ 20 บาท
  • ชำระผ่านแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT จากธนาคารกรุงไทย
  • ชำระผ่านแอปพลิเคชัน เป๋าตัง
  • ชำระผ่านที่ทำการไปรษณีย์ไทยทุกสาขา ค่าธรรมเนียมรายการละ 15 บาท
  • ชำระผ่านตู้ ATM และ ตู้ฝากเงินสด ADM ค่าธรรมเนียมรายการละ 15 บาท
  • จุดชำระเงิน CenPay
  • ชำระผ่านตู้บุญเติม ค่าธรรมเนียมรายการละ 20 บาท

ไม่จ่ายค่าปรับใบสั่งออนไลน์ ต้องระวังโทษอะไรบ้าง

ไม่จ่ายค่าปรับใบสั่งออนไลน์ ต้องระวังโทษอะไรบ้าง

บทลงโทษถ้าไม่จ่ายค่าปรับใบสั่งออนไลน์เหมือนกับใบสั่งทั่วไป ทุกอย่างยังคงยึดตามข้อกฎหมาย พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มีโทษดังนี้

ไม่ได้ป้ายภาษีตัวจริง

ไม่จ่ายค่าปรับจราจรต่อภาษีรถยนต์ได้ แต่จะได้ป้ายวงกลมชนิดชั่วคราวอายุ 30 วันมาแทน จนกว่าจะชำระค่าปรับภายในระยะเวลาที่กำหนด ถ้าไม่ตอบรับใบเตือน 2 ครั้งและยังไม่จ่ายค่าปรับอีก ตำรวจจะยื่นฟ้องศาลออกหมายจับพร้อมโทษปรับ 1,000 บาท ทำให้ต่อภาษีไม่ได้และห้ามใช้รถชั่วคราว

โดนระงับทะเบียนรถ

ต่อเนื่องจากประเด็นก่อนหน้า ถ้าได้รับป้ายวงกลมชั่วคราว 30 วันแต่ไม่ไปจ่ายค่าปรับ แถมยังเอารถออกมาขับอีก ต้องระวังโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ถูกยึดทะเบียนรถชั่วคราวและถูกหักแต้มใบขับขี่ 1 แต้ม

เสียค่าปรับช้า มีโทษปรับ

ค้างใบสั่งออนไลน์และใบสั่งอื่น ๆ ทุกประเภท มีโทษปรับสูงสุด 1,000 บาทต่อ 1 ใบสั่ง ยิ่งสะสมใบสั่งไว้เยอะก็เสียค่าปรับแบบจุก ๆ

โดนตัดแต้มใบขับขี่

ไม่จ่ายค่าปรับโดนหักแต้มใบขับขี่ 1-3 แต้ม ตามความหนักเบาของความผิดที่ได้รับ ถ้าถูกหักแต้มจนเหลือศูนย์ต้องโดนสั่งพักใช้ใบขับขี่ 90 วัน และเข้ารับการอบรมกับกรมการขนส่งทางบกใหม่ถึงจะได้แต้มคืน

โดนใบสั่งออนไลน์ต้องเช็คให้รอบคอบ

โดนใบสั่งออนไลน์ต้องเช็คให้รอบคอบ

ใบสั่งออนไลน์เป็นการทำงานรูปแบบใหม่ ที่ช่วยให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดเก็บฐานข้อมูลได้แม่นยำขึ้น ในฝั่งของประชาชนเองก็มีทางชำระเงินมากขึ้น ไม่ต้องไป สน. เอง แต่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก็เป็นช่องทางฉวยโอกาสของมิจฉาชีพได้เหมือนกัน ดังนั้น เราต้องรอบคอบ เช็คใบสั่งออนไลน์ก่อนกดจ่ายเงินทุกครั้งผ่านช่องทางของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ใครรู้ตัวว่าใกล้ครบกำหนดต่อภาษีแล้ว อย่าลืมเคลียร์ค่าปรับให้หมด และซื้อ พ.ร.บ. ออนไลน์กับ heygoody ได้เลย สะดวกครบจบในที่เดียวพร้อมรับความคุ้มครองทันที

ที่มาของข้อมูล : กรมการขนส่งทางบก และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

แชร์
ไปเลือกประกันรถยนต์กัน!
แค่กรอกข้อมูลง่าย ๆ แล้วให้ heygoody เสนอแผนที่เหมาะกับคุณ
เช็คราคาเบี้ย
ไปเลือกประกันรถยนต์กัน!
แค่กรอกข้อมูลง่าย ๆ แล้วให้ heygoody เสนอแผนที่เหมาะกับคุณ
เช็คราคาเบี้ย
แชร์
แชร์
chevron-down